ตาก

รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น ประจำปี 2565
โดย เทศบาลตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

ภาพรวมผลงาน

เทศบาลตำบลแม่จะเรา ได้ทำการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยดิจิทัล ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล ในปัจจุบัน มาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่กระบวนการ จัดเก็บข้อมูล บันทึก วิเคราะห์ ส่งต่อและรายงานผลโดยบูรณาการใช้ข้อมูลร่วมกันกับองค์กรภาคีเครือข่ายทางสุขภาพในพื้นที่ จนก่อเกิดประโยชน์ในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ ป้องกันการเสียชีวิตหรือลดอาการรุนแรงของการบาดเจ็บ ให้พ้นจากภาวะวิกฤต

การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นด้วยดิจิทัล จัดทำขึ้นเพื่อ

  • เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
  • เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ล่าช้า ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
  • เพื่อยกระดับมาตรฐานและความครอบคลุมในการดูแลในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของท้องถิ่นแบบองค์รวม

  • กระบวนการในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในอดีตเกิดปัญหาในการรับ-ส่งผู้ป่วยที่ล่าช้า ขาดข้อมูลส่วนสำคัญในการรายงานแก่หน่วยบริการที่ส่งต่อ เกิดความผิดพลาดในการรับส่ง
  • มีขั้นตอนในการให้บริการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน และใช้ระยะเวลาในการที่ยาวนาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยและผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน
  • ลักษณะของพื้นที่ ที่มีจำนวนตรอกและซอยจำนวนมาก ยากต่อการจดจำและการเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย
  • ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้วยกระบวนการ CHIA (community health impact assessment ) เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลกระทบของปัญหาดังกล่าว และร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบแบบบูรณาการ
  • ซึ่งผู้ร่วมประชุมประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ตัวแทนผู้สูงอายุ ผู้พิการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ โรงพยาบาลแม่ข่ายที่กำกับและควบคุมดูแลงานการแพทย์ฉุกเฉิน
  • หาแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยการบูรณาการทางความคิด

เทศบาลตำบลแม่จะเรา ได้ทำการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยดิจิทัล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) มีระบบบันทึก การจัดเก็บข้อมูล ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้พิการ ฯลฯ สามารถทำให้เข้าถึงประวัติการเจ็บป่วย เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

2) สามารถระบุพิกัดครัวเรือน ทำให้การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลด ความผิดพลาด ลดระยะเวลา ในการให้บริการ

3) มีระบบซักประวัติ บันทึกอาการสำคัญ อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน การประเมินผู้ป่วย การบันทึกสัญญาณชีพ ประวัติภูมิหลังของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการรักษาพยาบาลและส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาล ให้วินิจฉัยและเตรียมความพร้อมในระหว่างการนำส่ง ลดขั้นตอนและระยะเวลาของการซักประวัติและการให้บริการหัตการที่ซ้ำซ้อน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ทันที เมื่อถูกนำตัวส่งถึงโรงพยาบาล

4) มีระบบการตรวจสอบการทำงาน การยืนยันตัวตนของผู้ให้บริการ ระยะทาง การใช้ทรัพยากรในแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

5) มีระบบการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ และระบบการวิเคราะห์ ข้อมูล การออกปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ อัตรากำลัง วัสดุอุปกรณ์ และทรัพยากรในการ ปฏิบัติงาน

6) มีระบบวิเคราะห์ สาเหตุของการเกิดเหตุ เพื่อนำไปสู่กระบวนการในการวางแผนการแก้ไขปัญหา  (กรณีเกิดอุบัติเหตุ)

7) ระบบแอพพลิเคชั่นในการบันทึก จัดเก็บ วิเคราะห์และรายงานผลข้อมูล สามารถใช้ บนอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ มือถือ และแท็บเล็ตได้

ตัวอย่าง ระบบบันทึกการแจ้งเหตุ และการรายงานผลการออกปฏิบัติ งานการแพทย์ฉุกเฉิน

ตัวอย่าง ระบบการตรวจสอบข้อมูลการให้บริการ ปฏิทินการออกให้บริการ พิกัดในการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน