เชียงราย

รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยม ประจำปี 2566
โดย เทศบาลตำบลครึ่ง  อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ภาพรวมผลงาน

ปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี โดยลักษณะสภาพภูมิประเทศของตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสมต่อการจัดตั้งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาล ทำให้มีการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือตามข้างทาง บางครัวเรือนก็เลือกที่จะกำจัดขยะด้วยวิธีการเผากลางแจ้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศ และสุขภาพของประชาชน

เทศบาลตำบลครึ่ง จึงเกิดนโยบายการบริหารจัดการขยะ โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่เกิดเป็นโครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชั่น “ถังเงิน ถังทอง”) เพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนในการคัดแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งแปลงเป็นเงิน โดยใช้กระบวนการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร ประกอบด้วย

  • ต้นทาง คือ บ้านเรือน ชุมชน เข้าแอปพลิเคชั่น ตรวจสอบราคา และเรียกพนักงานเก็บขนขยะมารับที่บ้านได้
  • กลางทาง ทำหน้าที่รับขยะตามบ้านเรือน เพื่อส่งไปยังศูนย์วิสาหกิจชุมชน
  • ปลายทาง ทำหน้าที่สนับสนุนซอฟแวร์ อุปกรณ์อื่นๆ อีกทั้งรับซื้อขยะจากสมาชิก และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานโรงงานปลายทาง และส่งเสริมกิจกรรมการคัดแยกขยะในชุมชน

โครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชั่น “ถังเงิน ถังทอง”) จึงถือเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับประชาชนให้เข้าถึงการบริหารจัดการขยะได้อย่างความสะดวก รวดเร็ว และประชาชนมีรายได้เสริมสร้างแรงจูงใจให้เกิดการคัดแยกขยะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดในการทิ้ง และเมื่อขยะถูกนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง ขยะก็จะไม่เป็นขยะอีกต่อไปลดมลพิษและยังรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน

  • สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับกำจัดขยะที่ถูกวิธี
  • รณรงค์คัดแยกขยะจากต้นทางแต่ปลายทางไม่รับซื้อ
  • เผาขยะมูลฝอยในชุมชน
  • ลักลอบทิ้งขยะ ในที่สาธารณะเกิดปัญหาขยะตกค้างสะสม

โครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชั่น ถังเงิน ถังทอง) เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นใหม่ และเริ่มใช้งานจริงเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน

โดยพัฒนาการบูรณาการการใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในการให้บริการแก่ประชาชนและบุคลากร

  • การประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน วิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานของปี พ.ศ.2562 ซึ่งได้ข้อสรุปว่ากระบวนการทำงานและการแก้ไขปัญหายังไม่ครอบคลุม ประชาชนยังขาดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะเนื่องจากราคาตกต่ำ
  • เทศบาลตำบลครึ่ง ร่วมกับ บริษัท ฟาร์มดี เซอร์วิส จำกัด โดยคุณวรกิจ เมืองไทย ร่วมปรับปรุงระบบปฏิบัติการ Zero.net (แอพพลิเคชั่นถังเงิน ถังทอง) และอุปกรณ์การใช้งานให้มีความเหมาะสมและผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง
  • จัดอบรมโครงการอบรมการจัดการข้อมูลขยะในชุมชนของ อสม. โดยอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มเป้าหมาย 152 คน เรื่อง คัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ และการใช้งานแอพพลิเคชั่นถังเงิน ถังทองบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์มและการบริการพื้นที่คลาวด์ ให้แก่กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อนำไปขยายผลสู่ประชาชนในความรับผิดชอบของตนเอง
  • คณะทำงานบริหารจัดการขยะตำบลครึ่ง พนักงานเทศบาลตำบลครึ่ง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องการบริหารจัดการขยะผ่านแอพพลิเคชั่น ถังเงิน ถังทอง และการใช้บัตรสมาชิกของแต่ละครัวเรือน ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่เทศบาลตำบลครึ่งที่อาศัยอยู่จริง

โครงการดังกล่าว สามารถนำมาออกแบบและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมของระบบบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้จริงโดยทุกส่วนที่เกี่ยวของได้รับประโยชน์คือ (มั่งคั่ง – มั่นคง – ยั่งยืน) และสามารถเป็นโมเดลตัวอย่างเพื่อให้เกิดการขยายหรือเพิ่มปริมาณของชุมชน (ต้นทาง) และปริมาณผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน (กลางทาง) และเชื่อมต่อสินค้าและข้อมูลไปยังโรงงาน (ปลายทาง) เพื่อตอบสนองปริมาณความต้องการที่มีจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)

จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เทศบาลตำบลครึ่ง จึงได้รับโอกาสจากอำเภอเชียงของ ให้เป็นตำบลนำร่อง เพื่อการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรโดยการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารและจัดการขยะครบวงจรปี 2566 เป็นการต่อยอดด้านนวัตกรรมดิจทัลและคลาวด์ และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงของ เพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน สร้างฐานวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป