แพร่

รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น ประจำปี 2565
โดย องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่

ภาพรวมผลงาน

กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ทางภาษาที่สร้างให้เกิดความเชื่อมโยง ความรู้ ความเข้าใจ อย่างเป็นระบบ ระหว่างภาษาท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาสากล จากการใช้เครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติได้จริง รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภาษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ โดย

  1. เป็นการใช้เทคโนโลยี Application มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนด้านภาษา
  2. เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
  3. เป็นเครื่องมือที่ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชน ที่ต้องการเรียนรู้จากคำศัพท์ภาษาท้องถิ่นที่เชื่อมโยงคำศัพท์ภาษาสากล และสามารถเชื่อมโยงไปถึงการพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันได้
  4. ลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ตลอดจนผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

โรงเรียนอนุบาลองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ได้รับการอนุมัติจัดตั้ง โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โดยได้จัดทำการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2559 ตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง อนุบาล 3 เป็นปีแรก ปัจจุบันได้ขยายชั้นเรียนจนถึง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 167 คน

โครงการจัดการศึกษา ภาษาท้องถิ่นสู่สากล เป็นโครงการที่เริ่มต้นมาจากความต้องการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครอง และชุมชน ที่ต้องการให้เด็กนักเรียน มีทักษะในด้านภาษาต่างประเทศ และในขณะเดียวกันต้องการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นให้ควบคู่และเชื่อมโยงกัน โดยในปีการศึกษา 2563 คณะครูได้จัดทำสื่อการเรียนการสอน โดยใช้รูปแบบสื่อจำลองประกอบการเรียนการสอนด้านภาษา

องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบที่หลากหลาย ผู้ปกครองส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป ใช้แรงงานในเขตเมืองและอุตสาหกรรมเป็นส่วนมาก เด็กนักเรียนอาศัยอยู่กับ ปู่ ย่า ตายาย ที่มีอายุมาก ซึ่งมีข้อจำกัดในการเลี้ยงดู

การดำเนินตามโครงการภาษาท้องถิ่นสู่สากล ของโรงเรียนอนุบาลองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ยังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากร ทางด้านครูภาษาต่างประเทศ และการนำบทเรียนที่ได้ไปทบทวนที่บ้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่องทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ อยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่สามารถทบทวนคำศัพท์ ทางด้านภาษาให้กับเด็กนักเรียนได้ ดังนั้นจึงให้คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา นำปัญหาดังกล่าวมาพัฒนาแก้ไข โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนอนุบาลองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน เป็นต้นแบบการเรียนรู้ในการจัดทำสื่อและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการประกอบการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้จัดทำสื่อการเรียนรู้ผ่าน Application ให้นักเรียน ได้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพ มีความพร้อม รวมทั้งให้ผู้ปกครอง สามารถนำสื่อที่เข้าใจง่าย นำไปทบทวนการเรียนรู้  ให้บุตรหลาน และให้องค์กร ชุมชน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเด็กนักเรียน เรียนรู้คำศัพท์ได้แล้ว จะสามารถนำมาต่อยอดเพพื่อใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้

Application สื่อการเรียนรู้ “ภาษาท้องถิ่นสู่สากล”
ดาวน์โหลดได้ที่ https://quiet-rugelach-3af9f9.netlify.app

  • โครงการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการเดิมซึ่งริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2563 และเริ่มใช้งานจริงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
  • พัฒนาโดยบุคลากรภายใน อปท.
  • ช่องทางการสื่อสาร Facebook LINE Website (www.taopon.go.th) ป้ายประชาสัมพันธ์

ช่วงก่อนดำเนินโครงการ (Before)

  • จำนวนผู้ใช้บริการ ณ ที่ทำการ อปท. 60 คน (ในรอบ 1 เดือน)
  • จำนวนธุรกรรมการใช้งานของบริการ 120 ครั้ง (ในรอบ 1 เดือน)
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการ 5 นาที ต่อ 1 รายการ

ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของโครงการ (Target)

  • จำนวนคนที่คาดว่าจะใช้บริการระบบที่พัฒนาขึ้น 100 คน (ในรอบ 1 เดือน)
  • จำนวนธุรกรรมที่คาดว่าจะมีการใช้งานผ่านระบบที่พัฒนาขึ้น 100 ครั้ง
  • ระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ในการให้บริการผ่านระบบที่พัฒนาขึ้น 5 นาที ต่อ 1 รายการ

ผลลัพธ์หลังจากดำเนินโครงการ (After)

  • จำนวนคนใช้บริการจริงของระบบที่พัฒนาขึ้น 150 คน (ในรอบ 1 เดือน)
  • จำนวนธุรกรรมการใช้งานผ่านระบบที่พัฒนาขึ้น 600 ครั้ง
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการผ่านระบบที่พัฒนาขึ้น 5 นาที ต่อ 1 รายการ
  • ร้อยละ 90 นักเรียนโรงเรียนอนุบาลองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน มีความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถและทักษะที่สำคัญในการเชื่อมโยงคำศัพท์ ระหว่างภาษาท้องถิ่น สู่ ภาษาสากลได้
  • ร้อยละ 80 ของผู้ปกครองและประชาชนที่สนใจสามารถเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นสู่สากลได้ โดยเรียนรู้ ผ่าน Application สื่อการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นสู่สากล

ในช่วง 3 – 6 เดือน

  • มีเทคโนโลยี Application สื่อการเรียนรู้มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนด้านภาษา

ในช่วง 6 เดือน – 1 ปี

  • มีเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชน ที่ต้องการเรียนรู้จากคำศัพท์ภาษาท้องถิ่นเชื่อมโยงคำศัพท์ภาษาสากล และสามารถเชื่อมโยงไปถึงการพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันได้
  • ลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ตลอดจนผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา